บทความทางจิตวิทยา-การสร้างกำลังใจให้ตนเอง

 การสร้างกำลังใจให้ตนเอง …
 
                กำลังใจเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะเมื่อมีปัญหา มีความทุกข์ หรืออยู่ในภาวะวิกฤต กำลังใจที่เข้มแข็งเท่านั้น ที่จะช่วยให้คุณฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ไปได้ ดังนั้น เราจึงควรมาเรียนรู้ ที่จะสร้างกำลังใจให้แข็งแกร่งกัน ดังนี้…
 
  • ประการแรก คุณต้องมองโลกในแง่ดี มีความหวัง ต้องคิดอยู่เสมอว่าพรุ่งนี้จะต้องดีกว่าวันนี้ ความสำเร็จกำลังรอคุณอยู่ข้างหน้า ถ้าคุณสามารถอดทนผ่านวันนี้ไปได้ พรุ่งนี้คุณก็จะเป็นผู้ชนะ
 
  • ประการที่สอง คุณต้องไม่ลืมอดีต คุณต้องไม่ลืมว่าคุณเคยประสบความสำเร็จมาแล้วในอดีต เรียนจนจบมีงานทำ มีครอบครัว มีเงินมีทอง เป็นต้น ซึ่งกว่าคุณจะประสบความสำเร็จได้ก็ต้อง ผ่านอุปสรรคมาแล้วทั้งสิ้น ดังนั้นปัญหาหรือความทุกข์ที่เกิดขึ้นในวันนี้คุณก็ต้องเอาชนะได้เช่นกัน คุณจะเห็นได้ว่าชีวิตมีขึ้นมีลงอยู่เสมอ ความทุกข์จึงไม่อยู่กับคุณอย่างถาวร สักวันหนึ่งมันต้องผ่านไปอย่างแน่นอน
 
  • ประการที่สาม คุณต้องลองศึกษาชีวิตของคนอื่นดูบ้าง จะโดยการดูรายการโทรทัศน์ หรืออ่านหนังสือก็ได้ คุณจะเห็นว่าคนที่เขาประสบความสำเร็จในชีวิตมักต้องผ่านความลำบากทุกข์ยากมาก่อนทั้งนั้น ควรดูพวกเขาเป็นตัวอย่าง คุณจะได้เกิดกำลังใจ และมีใจสู้เหมือนพวกเขา
 
  • ประการที่สี่ ขอให้คุณคิดถึงเป้าหมายในอนาคตอยู่เสมอเช่น คิดถึงบ้านที่คุณอยากเป็นเจ้าของ คิดถึงรถยนต์ที่คุณอยากได้  คิดถึงปริญญาที่คุณใฝ่ฝัน หรือไม่ก็คิดถึงคนที่คุณรัก เช่น พ่อแม่ หรือลูกบอกตัวเองว่าที่คุณอดทนและต่อสู้อยู่ทุกวันนี้ก็เพื่ออนาคตและเพื่อคนที่คุณรัก ถ้าคุณทำสำเร็จคุณก็จะได้ในสิ่งที่คุณต้องการ และทุกคนก็จะมีความสุขด้วยกัน คุณจะได้เกิดกำลังใจในการต่อสู้ชีวิตมากขึ้น
 
ากคุณรู้สึกว่าท้อแท้ ให้กำลังใจตัวเองแล้วไม่ได้ผล ขอให้ลองหากำลังใจจากคนใกล้ชิดดูบ้าง ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว หรือเพื่อนสนิทก็ได้ ลองพูดคุยความทุกข์ในใจกับพวกเขาดู…
ที่มา : GotoKnow โดย ENJOY ใน enjoy

บทความทางจิตวิทยา-คิดอย่างไรไม่ให้เครียด

  คิดอย่างไร…ไม่ให้เครียด
              ความคิดของคนเรานี่แหละเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดความเครียดได้ง่าย ดังนั้นหากรู้จักคิดให้เป็นชีวิตก็จะมีความสุขขึ้นอีกเยอะเลย…วิธีคิดที่จะช่วยให้เรามีสุขภาพจิตดีขึ้น ได้แก่….
  • คิดในแง่ยืดหยุ่นให้มากขึ้น 
         อย่าเอาความคิดส่วนตัวเที่ยวไปวัดหรือตัดสินความถูกผิดของผู้อื่น อย่าเอาแต่จับผิดผู้อื่นหรือตัวเองตลอดเวลา รู้จักปล่อยวาง ผ่อนหนักผ่อนเบา ให้อภัย ลดศักดิ์ศรี ทิฐิมานะ ลืมมันไปเสียบ้าง แล้วความเครียดจะน้อยลง หรือไม่มีความเครียดเลย
  • คิดอย่างมีเหตุผล
           อย่าเป็นคนหูเบา เชื่ออะไรง่ายๆ แล้วเก็บมาคิดวิตกกังวลเป็นทุกข์ เป็นร้อน พยายามใช้เหตุผล ไตร่ตรองให้รอบคอบต่อเรื่อง หรือปัญหาต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง
  • คิดหลายๆแง่มุม
           การมองหรือคิดอะไรด้านเดียวมักขาดทุน เพราะทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วน มีทั้งข้อดีและข้อเสีย จึงต้องมองและคิดให้รอบด้าน จะได้เข้าใจเหตุการณ์ตามความเป็นจริงจิตใจจะได้ไม่ทุกข์
  • คิดแต่เรื่องดีๆ
       แม้ชีวิตจะมีทั้งสุขและทุกข์คละเคล้ากันอยู่เสมอ แต่เราไม่จำเป็นจะต้องจดจำแต่เรื่องร้ายๆ หรือเรื่องทุกข์ ผิดหวัง สิ่งดีๆในชีวิตต่างหากที่ควรจดจำและระลึกถึงบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จในชีวิตที่ผ่านมา คำชมเชยที่ได้รับความมีน้ำใจของเพื่อน ฯลฯ เพื่อจะได้มีกำลังใจต่อสู้กับอุปสรรคต่อไป
  • คิดถึงคนอื่นบ้าง
       อย่าคิดหมกมุ่นอยู่กับตัวเองมากนัก เปิดใจรับรู้ความเป็นไปของคนใกล้ชิด หรือปัญหาของผู้คนในสังคมบ้าง บางทีคุณอาจจะพบว่าปัญหาที่ตัวเอง เจอะเจอนี้ช่างเล็กน้อยเหลือเกิน เมื่อเทียบกับปัญหาของคนอื่นๆ แล้วหากคุณสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้บ้าง จิตใจก็จะเกิดปีติสุข
ที่มา : มูลนิธิหมอชาวบ้าน