โครงการส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital)

โครงการส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital)

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) สนองนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และ 3 โครงสร้างพื้นฐาน ป้อนกำลังคนในสายที่เป็นความต้องการในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษและวิชาชีพสาขาขาดแคลนให้ตลาดแรง งาน โดยเมื่อเรียนจบแล้วจะได้ดอกเบี้ยอัตราพิเศษไม่เกิน 0.5%
ต่อปี และได้ส่วนลดเงินต้น 30-50

              นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า “กองทุน ได้ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง เพื่อจัดทำ “โครงการส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital) เพื่อรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และ 3 โครงสร้างพื้นฐาน ผ่านกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา” โดยจะดำเนินการระหว่างปีการศึกษา 2562 – 2566 (5 ปีการศึกษา) สำหรับนักศึกษาผู้กู้ยืมเงินในระดับปริญญาตรี เมื่อสำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาที่กำหนดจะคิดดอกเบี้ยอัตราไม่เกินร้อยละ 0.5 ต่อปี และได้ส่วนลดเงินต้นร้อยละ 30 สำหรับนักเรียน/นักศึกษาผู้กู้ยืมเงินในระดับอาชีวศึกษา เมื่อสำเร็จการศึกษา ในสาขาวิชาที่กำหนดจะคิดดอกเบี้ยอัตราไม่เกินร้อยละ 0.5 ต่อปี และได้ส่วนลดเงินต้นร้อยละ 50 แต่หากผู้กู้ยืมเงินไม่สามารถสำเร็จการศึกษาหรือไม่ได้สำเร็จการศึกษาตามสาขาวิชาที่กำหนดไว้หรือผิดนัดชำระหนี้ จะไม่ได้รับการคิดดอกเบี้ยในอัตราที่กำหนด และไม่ได้รับส่วนลดเงินต้น โดยจะต้องชำระหนี้ตามระเบียบของกองทุน ซึ่งคาดว่าจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทรัพยากรมนุษย์เพื่อเพิ่มกำลังแรงงานในอนาคตที่สามารถตอบสนองความต้องการให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจให้ตรงกับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศตามแนวนโยบายประเทศไทย 4.0
          ทั้งนี้ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ประกอบด้วย
1) อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต
2) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
3) อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
4) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ
5) อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร
6) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์
7) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์
8) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ
9) อุตสาหกรรมดิจิทัล 
10) อุตสาหกรรมแพทย์ครบวงจร 
           และ 3 โครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่
1) อุตสาหกรรมระบบราง
2) อุตสาหกรรมพาณิชย์นาวี
3) อุตสาหกรรมโลจิสติกส์
          โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้ผู้ที่อยู่ในวัยศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรีและระดับอาชีวศึกษาเห็นความสำคัญของสาขาวิชาที่เป็นความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย และสนใจอยากเข้าศึกษาเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการต่อยอดให้กับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และ 3 โครงสร้างพื้นฐานซึ่งเป็นความต้องการในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น EEC และเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ที่กำลังศึกษาหรือกำลังจะเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรี และระดับอาชีวศึกษาที่อยู่ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย  และ 3 โครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนเป็นการป้อนกำลังคนในสายอาชีวะ/สายวิชาชีพ ที่ยังขาดแคลนให้ตลาดแรงงานอื่นๆ อีกด้วย” ผู้จัดการกองทุนฯ กล่าวในที่สุด
มหาวิทยาลัยสยามมีหลักสูตร/สาขาวิชา ที่เข้าร่วมโครงการ ดังนี้
      หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาแอนิเมชันและสื่อสร้างสรรค์
       หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล
      หลักสูตรอุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล (ต่อเนื่อง)
      หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
      หลักสูตรอุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า (ต่อเนื่อง)
      หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
      หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา
      หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ
      หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมยานยนต์
      หลักสูตรอุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยียานยนต์ (ต่อเนื่อง)